ถือว่าเป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Tech Giants ต่างชาติทั้งหลายที่เข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคชาวไทย ครั้งนี้เป็นกฎหมายการจัดเก็บภาษีจากการให้บริการของแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมี Apple – Google – Facebook – Netflix – LINE เข้าคิวเสีย VAT เป็นปีแรก สรรพากรเล็งจัดเก็บรายได้เข้ารัฐกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนฝั่งผู้บริโภคยังต้องจับตาต่อไปว่าสุดท้ายจะรับภาระเสียค่าบริการสูงขึ้นด้วยหรือไม่

จากที่ก่อนหน้านี้เพียงราว ๆ ครึ่งปีที่ผ่านมานี้เอง ทางครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีประเภท VAT จากบรรดาผู้ให้บริการดิจิทัลจากต่างประเทศ หรือที่เรารู้จักในชื่อว่า “กฎหมายภาษี e-Service” จนเกิดเป็นกระแสฮือฮากันไปทั่วโดยเฉพาะสำหรับบรรดาชาวเน็ตไทยทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ล่าสุดกฎหมายฉบับนี้ได้ประกาศมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วผ่านในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 นี้เอง โดยจะเริ่มมีผลบังคับจัดเก็บภาษีจากรายได้ทั้งหมดของผู้ให้บริการกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. นี้เป็นต้นไป เบื้องต้นสรรพากรประเมินอาจทำรายได้เข้ารัฐในปีแรกได้สูงถึงราว ๆ 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

สาระสำคัญ e-Service | มุ่งเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศที่ทำรายได้จากคนไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

สำหรับกฎหมายภาษี e-Service ฉบับนี้ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เพื่อนำรายได้มาคำนวณตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2564 นี้เป็นต้นไป ระบุเอาไว้ว่า “ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และแพลตฟอร์มอิเล็กทรกนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศที่มีรายได้จากการประกอบการในประเทศไทย ซึ่งมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนสำหรับเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต่อสรรพากรในอัตรา 7%” ซึ่งโดยสรุปแล้ว เราสามารถจำแนกประเภทของผู้ให้บริการต่าง ๆ ใต้บังคับของกฎหมาย e-Service ของไทยได้ดังนี้

  • บริการ Streaming ที่มีรายได้จากค่าบริการ (เช่น Netflix – Spotify)
  • บริการให้ดาวน์โหลดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (หนัง เกมส์ เพลง แอป ฯ หรือแม้แต่ LINE Sticker Store)
  • แพลตฟอร์มสำหรับการให้บริการ หรือเป็นตัวกลางส่งมอบบริการอิเล็กทรอนิกส์และชำระค่าบริการ (เช่น App Store – Play Store)
  • แพลตฟอร์ม/บริการประเภทใด ๆ ที่มีรายได้จากการให้พื้นที่ หรือบริหารจัดการพื้นที่โฆษณาออนไลน์ (เช่น Google – Facebook – LINE – TikTok)

โดยหลักการ e-Service คือเพิ่มรายได้เข้ารัฐ – แต่มาพร้อมความกังวลรายย่อย ค้าขายออนไลน์ และการผลักภาระให้ผู้บริโภคจ่ายแทน

ถึงแม้โดยหลักการแล้วเราจะเห็นว่าภาษี e-Service นี้เป็นเรื่องที่ดีมากกว่าลบอย่างแน่นอน เพราะเป็นเครื่องมือในการช่วยภาครัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยยะสำคัญเพราะผู้บริโภคในโลกดิจิทัลของไทยนั้นมีการใช้บริการและพึ่งพาบรรดา Tech Giants ต่างชาติสูงมาก ๆ เงินหมุนเวียนในระบบที่เกิดจากคนไทยย่อมต้องสูงตาม แต่อย่างไรก็ตาม การประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ก็สร้างความกังวลให้ชาวเน็ตไทยอยู่ไม่น้อยทีเดียว

เรื่องแรกก่อนเลยคือ มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้ให้บริการรายย่อย หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ชาวไทยที่ใช้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้เป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายหรือสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ จะไม่อยู่ภายใต้บังคับของภาษีชุดนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มไทย ผู้ให้บริการไทย หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องเสียภาษีนะครับ เพราะการมีรายได้ในฐานะบุคคลสัญชาติไทย ไม่ว่าคุณจะเป็น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หรือผู้ให้บริการสัญชาติไทย ทำธุรกิจในเมืองไทย ยังไงก็ต้องเสียภาษีอยู่แล้วโดยไม่เกี่ยวกับภาษี e-Service ฉบับนี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นความน่ากังวลซึ่งดูจะเป็นผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้จริงมากกว่าจากการบังคับใช้ภาษี e-Service ฉบับนี้คือ การผลักภาระทางภาษีให้แก่ผู้บริโภคหรือชาวเน็ตไทยซึ่งไม่อาจควบคุมได้เลย ตัวอย่างเช่น หากบริการสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง Netflix เล็งเห็นว่าการต้องเสียภาษีจากการให้บริการแก่ผู้บริโภคไทยนั้นจะทำให้พวกเขาเสียรายได้ ทางแก้ที่ง่ายที่สุดก็คือเพิ่มค่าบริการขึ้นไปอีกในสัดส่วน 7 – 10% เพื่อให้ครอบคลุมอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียจากการให้บริการในไทยนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่เป็นผลดีต่อชาวเน็ตอย่างพวกเราแน่นอน

แต่ในทางกลับกันการที่บริษัทต่างชาติเหล่านี้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์อยู่ในประเทศเรา แต่กลับไม่ต้องเสีย VAT หรือเสียภาษีอย่างที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสีย มันก็ดูจะไม่แฟร์กับคนไทยอย่างเราๆอีกเช่นกัน โดยจำนวนประเทศชาติต้องเสียโอกาสจัดเก็บไป ถ้าตัวเลขเป็นไปตามที่ประเมินก็สูงถึงหลักหลายพันล้านบาท หากถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศ “อย่างเหมาะสม” มันก็ทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้มากเช่นเดียวกัน

 

 

อ่านเพิ่มเติม: Tech Gianst ไม่เสียภาษี ? ทำไมทำได้ ? ประเทศต่าง ๆ ยอม ?

อ้างอิง: Prachachat | Ratchakitcha