ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนของเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด Google Location Services ก็กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยไล่ล่าอาชญากรชั้นยอด ถึงขนาดมีรายงานว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานี้ บางสัปดาห์เจ้าหน้าที่ตำรวจของสหรัฐฯมีการขอข้อมูลจากกูเกิ้ลมากถึง 180 ครั้ง แถมในแต่ละคำขออาจเกี่ยวข้องอุปกรณ์สื่อสารนับร้อยชิ้นเลยทีเดียว

หมายค้นแห่งยุคดิจิตอล “Geofence” เพื่อขอใช้ Big Data ของ Google

เจ้าหน้าที่ตำรวจของสหรัฐฯได้เริ่มมีการใช้ประโยชน์จากหมายค้นรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า หมายค้น “Geofence” มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเจ้า Geofence ที่ว่านี้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ หมายค้นที่ออกมาสำหรับขอข้อมูลผู้ต้องสงสัยที่ผ่านเข้ามายังตำแหน่งที่เกิดเหตุ โดยทำการขอจากผู้ให้บริการข้อมูลสำคัญๆ เช่น Google หรือ Apple ที่มีปริมาณข้อมูลเหล่านี้จำนวนมหาศาลและละเอียดมาก จากบริการหลากหลายรูปแบบที่ให้บริการอยู่ เช่น Google Services ที่มีการเก็บตำแหน่งผู้ใช้เอาไว้ตลอดเวลา ซึ่งเบื้องต้นหมายค้นนี้จะขอข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน แต่จะกำหนดเงื่อนไขของอุปกรณ์ที่ต้องการ เช่น วันเวลา สถานที่ อุปกรณ์ หรืออื่นๆ เพื่อจำกัดการค้นหา เมื่อทาง Google พบอุปกรณ์ที่ผู้ใช้มีพฤติกรรมตรงกับผู้ต้องสงสัยหรือพยานของคดีต่างๆ จึงจะให้ข้อมูลแบบเปิดเผยชื่อและระบุตัวตนอีกที เพื่อเป็นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีความโดยไม่จำเป็นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ฐานข้อมูลอันมหึมาของผู้ให้บริการอย่าง Google จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการจำกัดวงของการสืบสวนหากเกิดคดีอาชญากรรมขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลใจไม่น้อยเลยก็คือว่า ข้อมูลเช่นนี้อาจถูกนำไปใช้ในลักษณะแบบสุ่ม คือเริ่มต้นด้วยข้อมูลตั้งต้นที่ไม่มากพอ แต่ไปหวังพึ่งข้อมูลจาก Google เอาเลยเพื่อจำกัดวงกว้างลงมาเรื่อยๆเท่านั้น อาจเกิดการระบุตัวคนร้ายที่ผิดตัวได้ และในทางปฏิบัติ “การระบุตำแหน่งแบบนี้เป็นแค่การยืนยันว่าเจ้าของบัญชีที่ผูก Location Services บนอุปกรณ์ใดๆเอาไว้เป็นใครเท่านั้น แต่ไม่อาจยืนยันได้เลยว่าบุคคลเดียวกันนั้นอยู่ในพื้นที่ๆระบุไว้”

Molina Case Study: ระบุผิดตัว นอนคุกฟรีร่วมสัปดาห์

ย้อนกลับไปช่วงเดือนธันวาคม 2018 เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ Phoenix Suburb มลรัฐ Arizona ได้ทำการจับกุมนาย Jorge Molina ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมโดยทางเจ้าหน้าที่ได้แถลงเป็นผลงานการจับกุมที่รวดเร็วเพราะใช้เทคนิค Geofence ดึงข้อมูลจาก Google ในพื้นที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์และช่วงเวลาโดยใช้ประกอบกับภาพวงจรปิดที่ระบุให้เห็นคนยิงปืนออกมาจากรถ Honda Civic รุ่นเดียวกับที่นาย Molina เป็นเจ้าของนั่นเอง อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์เรื่องราวทั้งหมดกลับกลายจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยทีเดียวเมื่อข้อหาทั้งหมดต่อนาย Molina นั้นตกไป เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้หลักฐานเพิ่มเติมเข้าจับกุมผู้ต้องหาตัวจริงซึ่งเป็น แฟนเก่าแม่ของนาย Molina ที่ใช้รถคันเดียวกันนั้นในบางโอกาสด้วยนั่นเอง งานนี้เรียกได้ว่าเหวอกันทั้งบาง จากผลงานชิ้นโบว์แดงที่แสดงศักยภาพการสืบสวนอันรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีแห่งข้อมูล กลายเป็นปล่อยไก่จับผิดตัวให้เป็นกรณีศึกษากันไปซะอย่างงั้น

ผมรู้สึกตกใจมากที่พวกเขาจับกุมผมด้วยอิงจากข้อมูลพวกนี้เอาเป็นหลัก (ข้อมูลที่ดึงจาก Google) ผมก็ได้แต่คิดว่าถ้าเราบริสุทธิ์ เดี๋ยวต้องรอดเองแหละ เพียงแต่ผมกังวลใจนิดหน่อยว่ามันอาจจะนานเป็นเดือนหรือเป็นปีที่ผมจะต้องอยู่ในคุก

Jorge Molina | ผู้เคราะห์ร้ายจากกรณีศึกษาจับผู้ต้องหาผิดตัว

ให้ Google ช่วยจับโจรแบบนี้ก็ได้หรอ…. ?

หลังจากที่มีการเริ่มใช้หมายค้นแบบ Geofence กันอย่างจริงจังในสหรัฐอเมริกา Google ก็เป็นชื่อหลักและชื่อแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกหาในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งในทางนึงนับเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกระบวนการสืบหาพยานหลักฐานและไล่ล่าตามจับคนร้ายได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ สำหรับเคสอื่นๆอีกมากมายตั้งแต่เริ่มใช้มา ไม่ว่าจะเป็น คดีฆาตกรรม การโจรกรรม ความช่วยเหลือในพฤติกรรมล่วงละเมิด รวมไปถึงการไล่จับคนร้ายในคดีวางระเบิดต่อเนื่อง 4 จุดในรัฐ Texas เมื่อปลายปี 2018 ที่ทีมสืบสวนระบุตัวคนร้ายได้ค่อนข้างรวดเร็วกว่าปกติเนื่องจากใช้ข้อมูล Location Pattern ผนวกกับ Purchasing Transactions ที่จัดให้โดย Google นั่นเอง

Big Data ที่อยู่ในสารบบของ Google นั้นเป็นไปได้ว่าคือ 1 ในฐานข้อมูลที่ละเอียดและครบถ้วนที่สุดเจ้านึงของโลกในฐานะผู้ให้บริการด้านข้อมูลเบอร์ 1 ก็ว่าได้ โดยชุดข้อมูลกลุ่มนี้ Google เรียกมันว่า Sensorvault ซึ่งมีการกำหนด ID แบบไม่ระบุตัวตนให้แต่ละบุคคลที่ใช้บริการผลิตภัณฑ์ของ Google ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลเชิงลึกหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การระบุตำแหน่งของเรา ที่อยู่อาศัย พฤติกรรมการเดินทาง ธุรกรรมทางการเงิน และการพาณิชย์ เป็นต้น

ตามรายงานของ New York Times นั้น เจ้าหน้าที่รัฐเน้นเรียกข้อมูลด้วยหมาย Geofence ดังกล่าวนี้จาก 2 ยักษ์ใหญ่แห่งโลกเทคฯด้วยกันคือ Google และ Apple แต่ในส่วนของ Apple นั้นได้ให้การปฏิเสธที่จะช่วยเหลือมาโดยตลอดเพราะให้เหตุผลในด้านความเป็นส่วนตัวของบุคคลทั้งหลาย อย่างไรก็ตามพวกเขายังสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลของผู้ใช้ iPhone ได้อยู่ดีเพราะแทบจะร้อยทั้งร้อยต้องมีการใช้บริการ Google Services อยู่บ้างเช่น Google Maps เป็นต้น อันที่จริงเรื่องนี้ก็ตั้งข้อสรุปยากอยู่เหมือนกันนะ ว่าอะไรสำคัญกว่ากันระหว่าง ความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเรา หรือความรวดเร็วและแม่นยำในกระบวนการยุติธรรมที่อาจต้องพึ่งพาข้อมูลพวกนี้อยู่ตลอดเวลาและมากขึ้นทุกๆวันนั่นเอง

อ้างอิง: New York Times | Engadget